วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รำเหย่อย





ประวัติความเป็นมา

        รำเหย่อย เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งของไทยที่นิยมเล่นกันในบางหมู่บ้าน บางท้องถิ่นของภาคกลางนอกตัวจังหวัดเท่านั้น ไม่สู้จะแพร่หลายนัก การละเล่นประเภทนี้ดูแทบจะสูญหายไป กรมศิลปากรได้พิจารณาเห็นว่าการเล่นรำเหย่อยมีแบบแผนการเล่นที่น่าดูมาก ควรรักษาให้ดำรงอยู่และแพร่หลายยิ่งขึ้น จึงได้จัดส่งคณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรไปรับการฝึกหัดและถ่ายทอดการละเล่น เพลงเหย่อยไว้จากชาวบ้านที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2506 แล้วนำออกแสดงเป็นครั้งแรกในโอกาสที่รัฐบาลจัดการแสดงถวายสมเด็จพระรามา ธิบดีแห่งมาเลเซีย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2507

คำร้องแต่งขึ้นตามแบบแผนของการรำเหย่อยใช้ถ่อยคำพื้น ๆ ร้องโต้ตอบกันด้วยกลอนสด เป็นการร้องเกี้ยวกันระหว่างชายหญิงมุ่งความสนุกเป็นส่วนใหญ่รำเหย่อยนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พาดผ้า”


ลักษณะการแสดง

        ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่นยิ่งมากยิ่งสนุกสนาน โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายชายกับหญิงแต่ละฝ่ายจะมีผู้ร้อง ซึ่งจะประกอบด้วยพ่อเพลง แม่เพลง ลูกคู่ และผู้รำ เริ่มจากการประโคมกลองอย่างกึกก้องเพื่อให้ผู้เล่น และผู้ดูเกิดความรู้สึก สนุกสนานจากนั้นจังหวะก็เริ่มช้าลง เมื่อเริ่มเล่นฝ่ายชายก็จะออกมาร้อง และรำ แล้วเอาผ้าไปคล้องไหล่ให้ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงเมื่อถูกคล้องผ้าก็จะออกมารำ


โอกาสที่แสดง

        จะนิยมเล่นในเทศกาลวันตรุษสงกรานต์ งานนักขัตฤกษ์ งานมงคลและงานรื่นเริงของชาวบ้าน โดยเฉพาะในเขตอำเภอพนมทวนเช่น บ้านทวน บ้านห้วยสะพาน บ้านทุ่งสมอ บ้านหนองปลิง บางครั้งก็จะเป็นการเล่นประกอบการเล่นพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น การเล่นลูกช่วงรำ ลุกช่วงขี้ข้า หรือประกอบการเล่นเหยี่ยวเฉี่ยวลูกไก่


การแต่งกาย

        ผู้แสดงแต่งกายแบบพื้นบ้านภาคกลาง ชายนุ่งผ้าโจงกระเบนต่าง ๆ สีกัน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นเหนือศอก มีผ้าคาดเอวและพาดไหล่ หญิงนุ่งผ้าพิมพ์ลายโจงกระเบนหลากสีกัน สวมเสื้อคอกลมแขนยาว ห่มสไบทับเสื้อ มีเครื่องประดับ มีเครื่องประดับ เข็มขัด สร้อยคอ สร้อยข้อมือ


ดนตรีที่ใช้

        กลองยาว ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ปี่ รำมะนา กระบอกไม้ไผ่


สถานที่แสดง

        แสดงในบริเวณพื้นลานกว้าง ๆหรือนำมาแสดงบนเวที


จำนวนผู้แสดง

        ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น


เนื้อร้องเพลงรำเหย่อย


        ชาย มาเถิดหนาแม่มา มาเล่นพาดผ้ากันเอย

        พี่ตั้งวงไว้ท่า อย่านิ่งรอช้าเลยเอย

        พี่ตั้งวงไว้คอย อย่าให้วงกร่อยเลยเอย

        หญิง ให้พี่ยื่นแขนขวา เข้ามาพาดผ้าเถิดเอย

        ชาย พาดเอยพาดลง พาดที่องค์น้องเอย

        หญิง มาเถิดพวกเรา ไปรำกับเขาหน่อยเอย

        ชาย สวยเอยแม่คุณอย่าช้า รีบรำออกมาเถิดเอย

        หญิง รำร่ายกรายวง สวยดังหงส์ทองเอย

        ชาย รำเอยรำร่อน สวยดังกินนรนางเอย

        หญิง รำเอยรำคู่ น่าเอ็นดูจริงเอย

        ชาย เจ้าเคียวใบข้าว พี่รักเจ้าสาวจริงเอย

        หญิง เจ้าเคียวใบพวง อย่ามาเป็นห่วงเลยเอย

        ชาย รักน้องจริง รักแล้วไม่ทิ้งไปเลย

        หญิง รักน้องไม่จริง รักแล้วก็ทิ้งไปเอย

        ชาย พี่แบกรักมาเต็มอก รักจะตกเสียแล้วเอย

        หญิง ผู้ชายหลายใจ เชื่อไม่ได้เลยเอย

        ชาย พี่แบกรักมาเต็มร้า ช่างไม่เมตตาเสียเลยเอย

        หญิง เมียมีอยู่เต็มตัก จะให้น้องรักอย่างไรเอย

        ชาย สวยเอยคนดี เมียพี่มีเมื่อไรเอย

        หญิง เมียมีอยู่ที่บ้าน จะทิ้งทอดทานให้ใครเอย

        ชาย ถ้าฉีกได้เหมือนปู จะฉีกให้ดูใจเอย

        หญิง รักจริงแล้วหนอ รีบไปสู่ขอน้องเอย

        ชาย ขอก็ได้ สินสอดเท่าไรน้องเอย

        หญิง หมากลูกพลูจีบ ให้พี่รีบไปขอเอย

        ชาย ข้าวยากหมากแพง เห็นสุดแรงน้องเอย

        หญิง หมากลูกพลูครึ่ง รีบไปให้ถึงเถิดเอย

        ชาย รักกันหนาพากันหนี เห็นจะดีกว่าเอย

        หญิง แม่สอนเอาไว้ ไม่เชื่อคำชายเลยเอย

        ชาย แม่สอนเอาไว้ หนีตามกันไปเถิดเอย

        หญิง พ่อสอนไว้ว่า ให้กลับพาราแล้วเอย

        ชาย พ่อสอนไว้ว่า ให้กลับพาราพี่เอย

        หญิง กำเกวียนกำกง จะต้องจบวงแล้วเอย

        ชาย กรรมเอยวิบาก วันนี้ต้องจากแล้วเอย

        หญิง เวลาก็จวน น้องจะรีบด่วนไปก่อนเอย

        ชาย เราร่วมอวยพร ก่อนจะลาจรไปก่อนเอย

        พร้อมกัน ให้หมดทุกข์โศกโรคภัย สวัสดีมีชัยทุกคนเอย



ขอขคุณที่มา: https://sites.google.com/site/ajanthus/ra-heyxy

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

                                         เพลงลำตัด

                                              ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ลำตัด

เพลงลำตัด     ลำตัด เป็นการแสดงที่มาจากการแสดงบันตนของแขกมลายู ลำตัดจะมีลักษณะตัด และเฉือนกันด้วยเพลง (ลำ) การว่าลำตัดจึงเป็นการว่าเพลงรับฝีปากของฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงโดยตรง มีทั้งบทเกี้ยวพาราสี ต่อว่า เสียดสี แทรกลูกขัด ลูกหยอด ให้ได้ตลกเฮฮากัน สำนวนกลอนมีนัยยะออกเป็นสองแง่สองง่าม เครื่องดนตรีที่ใช้ คือ กลองรำมะนา ฉิ่ง วิธีแสดงจะมีต้นเสียงร้องก่อน โดยส่งสร้อยให้ลูกคู่ร้องรับ แล้วจึงด้นกลอนเดินความ เมื่อลงลูกคู่ก็จะรับด้วยสร้อยเดิมพร้อมกับตีรำมะนา และฉิ่งเข้าจังหวะการร้องรับนั้นด้วย  ลำตัด เป็นการแสดงที่มาจากการแสดงลิเกบันตนของมลายู
     ลำตัด เรียกได้ว่า เป็นเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองชนิดหนึ่งของไทย ซึ่ง นิยมร้องกันในเขตภาคกลาง ทั้งนี้ มีต้นกำเนิดมาจาก “ลิเกบันตน” ของชาวมลายู ในต้นรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยลิเกบันตนดังกล่าว มีรูปแบบของการแสดงแยกออกเป็น 2 สาขา สาขาหนึ่ง เรียกว่า “ฮันดาเลาะ” และ  “ลากูเยา” และลิเกบันตนลากูเยา มีลักษณะของการแสดงว่ากลอนสดแก้กัน โดยมีลูกคู่คอยรับ เมื่อต้นบทร้องจบ ต่อมาเมื่อมีการดัดแปลงกลายเป็นภาษาไทยทั้งหมด จึงเรียกกันว่า “ลิเกลำตัด” ในระยะแรก และเรียก สั้น ๆ ในเวลาต่อมาว่า “ลำตัด” ซึ่งมีลักษณะของเพลงและทำนองเพลงที่นำมาให้ลูกคู่รับ โดยมากก็มักตัดมาจากเพลงร้องหรือเพลงดนตรีอีกชั้นหนึ่ง  โดยเลือกเอาแต่ตอนที่เหมาะสมแก่การร้องนี้มาเท่านั้นบัดนี้ชื่อถูกตัดลงไปโดยความกร่อนของภาษาเหลือเพียงว่า “ลำตัด” เป็นการตั้งชื่อที่เหมาะสม เรียกง่าย มีความหมายรู้ได้ดีมาก (มนตรี ตราโมท,2518 : 46 – 65) กล่าวคือ ความหมายเดิม “ลำ” แปลว่าเพลงเมื่อนำมารวมกับคำว่า “ตัด” จึงหมายถึง การนำเอาเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ อีกหลายชนิด ตัดรวมเข้าเป็นบทเพลง  เพื่อการแสดงลำตัด เช่น  ตัดเอา เพลงเกี่ยวข้าว  เพลงฉ่อย  เพลงเรือ  เพลงพวงมาลัย  และเพลงอีแซว  เป็นต้น เข้ามาเป็นการละเล่นที่เรียกว่า ลำตัด (ธนู บุญยรัตพันธ์, สัมภาษณ์)

วิธีแสดงลำตัด
     ผู้เล่นลำตัดส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมต่างจากลิเกที่ผู้แสดงจะเป็นคนไทยล้วนๆเพราะลิเกต้องไหว้ครูฤาษีซึ่งขัดกับหลักของศาสนาอิสลาม ปัจจุบันคณะลำตัดที่มีชื่อเสียงในอยุธยา จะมีอยู่ 2 คณะ คือ คณะซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ และคณะคนไทยซึ่งเป็นชาวมุสลิมการแสดงลำตัดเป็นการเฉือนคารมกันด้วยเพลง(ลำ)โดยมีการรำประกอบแต่ไม่ได้ เล่นเป็นเรื่องอย่างลิเกและการแสดงต้องมีทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงและเป็นที่นิยมกันมากเนื่องจากเป็นการแสดงโดยการใช้ไหวพริบปฏิภาณใน การด้นกลอนสดส่วนการประชันลำตัดระหว่าง2 คณะ จะใช้เสียงฮาของคนดูเป็นเกณฑ์ คณะใดได้เสียงฮาเสียงปรบมือมากกว่า ก็จะถือเป็นฝ่ายชนะ 


ขอบคุณที่มา:http://mcpswis.mcp.ac.th/html_edu/cgi-bin/mcp/main_php/print_informed.php?id_count_inform=14691

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

                                                                รำวงมาตรฐาน

รำวง วิวัฒนาการมาจากรำโทน  เพลงร้องได้มีการกำหนดท่ารำของแต่ละเพลงไว้โดยเฉพาะ  เช่น  เพลงงามแสงเดือน ใช้ท่าสอดสร้อยมาลาเป็นท่ารำ  เพลงชาวไทยใช้ท่าชักแป้งผัดหน้า  เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญใช้ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่ เป็นต้น  เพลงรำวงที่กำหนดท่ารำโดยใช้ท่ารำแม่บทดังกล่าวนี้เรียกว่า รำวงมาตรฐาน   นิยมในงานรื่นเริงแทนการเต้นรำ   และยังจัดเป็นชุดนาฏศิลป์ไทยที่นำไปแสดงเพื่อความบันเทิงได้อีกด้วย
        กำหนดการแต่งกายของผู้เล่นรำวงให้เป็นระเบียบ  เช่น  ผู้ชายแต่งชุดสากล  ผู้หญิงแต่งชุดเสื้อกระโปรง    หรือชุดไทยพระราชนิยม  ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน  สวมเสื้อคอกลม   มีผ้าคาดเอว   ผู้หญิงแต่งชุดไทย  เป็นต้น
        การเล่นรำวง  นอกจากจะเป็นที่นิยมของชาวไทยแล้ว  ชาวต่างชาติก็ยังนิยมเล่นรำวงด้วยเพลง     รำวงที่ต่างชาติรู้จักและมักจะร้องกันได้  คือ  เพลงลอยกระทง  การเล่นรำวงจะเล่นได้ทุกโอกาสที่มีงานรื่นเริงหรือมีการแสดงนาฏศิลป์ไทย ในการนำนาฏศิลป์ไทยไปแสดงที่ต่างประเทศในบางครั้ง  เมื่อจบการแสดงแล้ว    จะมีการเชิญชวนแขกผู้มีเกียรติ  ขึ้นมาร่วมรำวงกับผู้แสดงชายและหญิงของคณะนาฏศิลป์ไทย   นับเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างคณะนาฏศิลป์ไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาชมการแสดง  อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ศิลปะการเล่นรำวงให้แพร่หลายไปในนานาประเทศอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

          การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ตอน เพลงเรือ






ความเป็นมาของการเล่นเพลงเรือ     เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวไทยภาคกลางที่อยู่ตามริมลำน้ำ เช่น สุพรรณบุรี  อ่างทอง อยุธยา ฯลฯ นิยมเล่นกันในหน้านาประมาณเดือน 11-12  อุปกรณ์ในการเล่นเพลงเรือคือ เรือของพ่อเพลงลำหนึ่งและเรือของแม่เพลงลำหนึ่ง เครื่องดนตรีมี  กรับธรรมหรือกรับพวงและฉิ่ง  ถ้าเล่นกลางคืนจะต้องมีตะเกียงไว้กลางลำเรือ เนื้อร้องทั้งสองฝ่ายมาพบกัน  พ่อเพลงก็จะพายเรือเข้าไปเทียบเกาะเรือแม่เพลงไว้แม่เพลงเริ่มด้วยเพลงปลอบ หรือเพลงเกริ่น บางคณะจะเริ่มด้วยบทไหว้ครูก่อน จากนั้นแม่เพลงก็จะร้องประโต้ตอบเรียกว่า บทประ แล้วต่อด้วยชุดลักหาพาหนี หรือนัดหมายสู่ขอ แล้วต่อด้วยเพลงชุดชิงชู้และเพลงตีหมากผัว เมื่อเลิกก็จะมีเพลงจาก แสดงความอาลัยอาวรณ์ 

วิธีเล่นเพลงเรือ     วิธีเล่นหรือการขับเพลงจะมีต้นเสียงขึ้น  และมีลูกคู่รับ  โดยใช้ฉิ่งและกรับพวงเป็นเครื่องประกอบจังหวะเวลาร้อง ต้องร้องให้ลงกับจังหวะพาย ผู้ขับเพลงเรือหรือแม่เพลงต้องเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบที่จะหาคำหรือหยิบยกเอาเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาสอดแทรกเข้า ไปให้เหมาะสมอาจเป็นแข่งขัน ยกย่อง เสียดสี ซึ่งทำให้ผู้ฟังสนุกไปด้วยก่อนการเล่นเพลง ต้องมีการกล่าวกลอนไหว้ครูเสียก่อนจากนั้นจึงจะเอื้อนกลอนพรรณนาหรือชักชวนให้คนอื่นมาเล่นด้วยโดยใช้วิธีว่ากลอนกระทบกระทั่งกระเซ้าเย้าแหย่ จนคู่โต้มิอาจจะทนอยู่ได้จึงเกิดการเล่นเพลงเรือ โต้ตอบกันขึ้น การโต้ตอบกันด้วยเพลงเรือ บางทีก็เผ็ดร้อนใช้คารมที่คมคาย บางทีก็อาจเป็นทำนองรักหวานชื่น ทั้งนี้แล้วแต่โอกาสและสถานการณ์ 

การแสดงแบ่งเป็น  ฝ่ายชาย  ฝ่ายหญิง  มีพ่อเพลงแม่เพลง
     จะเริ่มด้วยบทไหว้ครู  เกี้ยวพาราสี  ลักหาพาหนีและตีหมากผัว

ลักษณะบทร้องแบ่งเป็น 4 ตอน  คือ     1. ปลอบ (ฝ่ายชายชวน)
     2. ประ  (ฝ่ายหญิงตอบ)
     3. ดำเนินเรื่อง
     4. จาก 

การแต่งกาย     ฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม ผ้าขาวม้าคาดเอว  ส่วนฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก

โอกาสที่แสดง     แสดงในงานฤดูน้ำหลาก  หรือในงานนักขัตฤกษ์  งานมงคล  เช่น บวชนาค  ทอดกฐินและลอยกระทง

สถานที่แสดง     แสดงและเล่นกันในเรือ  แต่ในปัจจุบันร้องและเล่นกันบนเวที จัดเป็น 2 ฝ่าย  ชาย – หญิง ว่าแก้กันเป็นคู่ 

ตัวอย่างเพลงเรือ
ได้ยินน้ำคำเสียงมาร่ำสนอง                       เสียงใครมาเรียกหาน้อง (ฮ้าไฮ้)ที่ไหนล่ะ
แต่พอเรียกหาฉันแม่หนูไม่นานไม่เนิ่น        เสียงผู้ชายร้องเชิญ....ฉันจะว่า
การจะเล่นจะหัวหนูน้องไม่ดีดไม่ดิ้น            หรอกว่ายามกฐิน....ผ้าป่า
พอเรียกก็ขานแต่พอวานก็เอ่ย                    น้องหนูไม่นิ่งกันทำเฉย...ให้มันช้า
แต่พอเรียกหาน้องฉันก็ร้องขึ้นรำ                ฉันนบนอบตอบคำจริง....พับผ่า
แม่หนูนบนอบตอบคำ                                ตอบกันไปเสียด้วยน้ำ...วาจา
แต่พอเรียกหาน้องแล้วฉันก็ร้องว่าจ๋า           กันเสียเมื่อเวลาเอ๋ยจวนเอย (รับ)
เมื่อเวลาจวนเอยแต่พอเรียกหาน้อง             แม่หนูก็ร้องว่าจ๋าหาน้องหาน้องแม่หนูก็ร้อง
ว่าจ๋ากันเมื่อเวลา  เอ๋ยเมื่อเวลา   เวลาจวนเอย   ฮ้า...ไฮ้
  
เอ๋ยเรียกหาน้องร้องเอ่ย                             น้องหนูไม่นิ่งกันทำเฉย...ให้มันช้า
จะเล่นจะหัวกะตัวฉัน                                  เสียงใครมาเรียกแล้วแม่บ้าน...ไกลตา
ครั้นจะไม่ทักไม่ทาย                                  ฉันกลัวว่าพี่แกจะอาย...กันแน่หน้า
ฉันกลัวจะอาจพ่อไหวเอ๋ยเขาบ่น                 ทั้งฝูงผู้ฝูงคน...ก็มากหน้า
ฉันไม่ให้อายพ่อไหวเอ๋ยเขาแย่                   ฉันมิให้พี่ลงไปอาบ...กันแก่หน้า
ฉันจะธุรับหน้าเธอเอาไว้เสมอหน้าท่า
ฉันไม่ชักหน้าก้มให้หกล้มผวา                     เพราะเราเป็นคนเห็นหน้ากันเลย (รับ)
เอ๋ยคนเห็นหน้ากันเอย
ฉันไม่ชักหน้าก้มให้หกล้มผวา                     หน้าก้ม  หน้าก้ม  ให้หกล้มผวา  เพราะเป็นคน
เห็นหน้า  เอ๋ยคนเห็นหน้า                           เห็นหน้ากันเลย     (ฮ้า...ไฮ้) 



ขอบคุณที่มา : http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/374


วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

                                             ระบำชาวนา


“ระบำชาวนา” ซึ่งผู้แต่งทำนองเพลงนี้คือ 
นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและศิลปินแห่งชาติ ส่วนท่ารำนั้นท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี
ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้คิดและออกแบบท่ารำ เมื่อได้ชมการแสดงระบำชาวนา
แล้วจะมีสุนทรียภาพทางนาฏศิลป์ที่เกิดขึ้นดังนี้
               ตัวละคร เครื่องแต่งกาย
ตัวละครนั้นจะเป็นชาวบ้านทั้งหญิงและชาย  จะเป็นแต่งชุดม่อฮ่อม ซึ่งเป็นชุดที่เรียบง่าย 
ไม่หรูหรา เป็นชุดพื้นบ้าน ที่เห็นแล้วจะจะทำให้รู้ได้เลยว่าการแสดงชุดนี้ต้องเกี่ยวกับการทำนา
               ขับร้อง บทร้อง บทเจรจา บทพากย์ 
การแสดงระบำชาวนา เป็นการแสดงที่ไม่มีการขับร้อง ไม่มีเนื้อเพลง มีเพียงดนตรี ประกอบจังหวะซึ่ง
เป็นดนตรีที่มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน
             ฉาก อุปกรณ์
อุปกรณ์ที่ใช้จะเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำนาตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงการเกี่ยวข้าว ฉะนั้นอุปกรณ์ที่ใช้จึง
ได้แก่ เมล็ดข้าว เคียวเกี่ยวข้าว รวงข้าง กระด้ง เป็นต้น
              ดนตรีที่ใช้ประกอบ
ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น กลองยาว กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง ดนตรีจะมีจังหวะที่สนุกสนาน 
เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และให้หายเหนื่อยจากการทำนา
             ท่าทางสื่อความหมาย
ท่ารำจะเป็นท่าที่สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา  เป็นขั้นตอนการทำนาตั้งแต่เริ่มหว่านข้าว 
ไถนา เกี่ยวข้าว ฝัดข้าว เป็นต้น

 ขอบคุณที่มา: http://www.artsedcenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539512322&Ntype=11

ระบำวิชนี



เป็นระบำชุดหนึ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยใช้ทำนองเพลงจีนดาวดวงเดียว ซึ่งเป็นเพลงที่มีอยู่ มาประดิษฐ์เป็นท่ารำ โดยผู้แสดงจะแต่งกายแบบนางใน ในมือถือพัดมีด้ามประกอบการรำซึ่งมีศัพท์เรียกว่า วิชนี หรือ พัชนี ออกมาร่ายรําด้วยท่วงทํานองเพลงและบทร้องอันไพเราะ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ชาวไทยนิยมใช้พัดเป็นเครื่องบรรเทาความร้อน ดังนั้นนาฏศิลปชุด ระบําวิชนี จึงวิวัฒนาการมาจากการใช้พัด รําเพยลมของชาวไทยในทํานองอย่างมีศิลปนั่นเองผู้ประพันธ์เนื้อร้องคือ อาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย ของกรมศิลปากร
โดยมีเนื้อร้องดังต่อไปนี้

หน้าร้อน
ทินกรเจิดแจ่มแฉล่มศรี
เกิดแสงแดดแผดมาสู่ร่างนี้
เผามาลีโรยเหงาเหี่ยวเฉาไป
อากาศร้อนอบอ้าวผะผ่าวผิว
ไล่ลมพริ้วมาไวคลายร้อนได้
พระพายหยุดสุดร้อนร้อนฤทัย
ต้องอาศัยโบกพัดกระพือลมวิชนี
ที่ช่วยให้โรยรื่นเย็นฉ่ำชื่นชุ่ม
ในฤทัยสมถึงเวลาหน้าร้อนร้อนระงม
เชิญมาชมรำพัดให้เย็นใจเอย....
เพลงบรรเลงรัว เพลงเชิดจีน



วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559



                                                                     รําสีนวล
เป็นชื่อของเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบการแสดงละคร ประกอบกิริยาไปมาของสตรีที่มารยาทกระชดกระช้อย ทำนองเพลงมีท่วงทีซ่อนความพริ้งเพราไว้ในตัว ต่อมามีผู้ประดิษฐ์ทำนองร้องขึ้นประกอบการรำซึ่งทำให้ความหมายของเพลงเด่นชัด ปรากฏเป็นภาพงดงามเมื่อมีผู้ร่ายรำประกอบแต่เดิมการรำเพลงสีนวลมีอยู่แต่ในเรื่องละคร ภายหลังจึงแยกออกมาใช้เป็นระบำเบ็ดเตล็ด เพราะมีความงดงามไพเราะทั้งในชั้นเชิงของทำนองเพลง และท่ารำความหมายของการรำสีนวล เป็นไปในการบันเทิงรื่นรมย์ของหญิงสาวแรกรุ่นที่มีจริตกิริยางดงามตามลักษณะกุลสตรีไทย ด้วยความที่ทำนองเพลง บทขับร้อง และท่ารำที่เรียบง่ายงดงาม จึงเป็นชุดนาฏศิลป์ชุดหนึ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปจำนวนผู้แสดง ใช้แสดงเป็นหมู่ หรือแสดงเดี่ยวก็ได้ ตามโอกาสที่เหมาะสมดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์
บทร้องที่ใช้แสดงมีอยู่ ๓ รูปแบบ
แบบที่ ๑... ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล
สีนวลชวนชื่นเมื่อยามเช้า รักเจ้าสาวสีนวลหวนคิดถึง
แม้ไม่แลเห็นเจ้าเฝ้าคำนึง อยากให้ถึงวันที่รำสีนวล...
ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา
แบบที่ ๒ ประพันธ์บทร้องโดย นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ...
ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล

อันการรำสีนวลกระบวนนี้ เป็นแบบที่ร้องรับไม่จับเรื่อง
เป็นการรำเริงรื่นของพื้นเมือง เพื่อเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนอารมณ์ได้ปลดทุกข์สุขใจเมื่อไร้กิจ
เข้ารำชิดเคียงคู่ดูเหมาะสมขอเชิญชวนมวลบรรดาท่านมาชม
รื่นอารมณ์ยามที่รำสีนวล...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา
แบบที่ ๓... ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวลร้องสีนวล

สีนวลชวนชื่นเมื่อยามเช้า รักเจ้าสาวสีนวลหวนคิดถึง
แม้ไม่แลเห็นเจ้าเฝ้าคำนึง อยากให้ถึงวันที่รำสีนวล
ร้องอาหนู

เจ้าสาวสาวสาวสาวสะเทิ้นเจ้าค่อยเดินค่อยเดินเดินตามทาง
ฝูงอนงค์ทรงสำอางนางสาวศรีห่มสี (ซ้ำ)ใ
ส่กำไลแลวิลัย ทองใบอย่างดี ทองก็ดีประดับสีเพชรพลอยพลอยงามดูงามใส่ต่างหูสองหู
หูทัดดอกไม้สตรีใดชนใดในสยามจะหางามงามกว่ามาเคียง ไม่เคียง (ซ้ำ)
ชวนกันเดิน พากันเดิน รีบเดินมา รีบเดินมาร่ายรำทำท่าน่ารักเอย...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา
หมายเหตุ บทร้องอาหนู เป็นบทพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ท่อนสุดท้ายปรับปรุงขึ้นใหม่แตกต่างจากบทพระนิพนธ์) ผู้แสดงนุ่งผ้าโจง ห่มสไบจีบ สยายผมทัดดอกไม้ ใส่เครื่องประดับ (เข็มขัด กำไลมือ กำไลเท้า)ความยาวของชุดการแสดงจะแตกต่างกันคือรำสีนวล ออกเพลงเร็ว-ลา ใช้เวลาแสดงประมาณ ๕ นาทีรำสีนวล ออกเพลงอาหนู เพลงเร็ว-ลา ใช้เวลาแสดงประมาณ ๘ นาที