วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

                                                                รำวงมาตรฐาน

รำวง วิวัฒนาการมาจากรำโทน  เพลงร้องได้มีการกำหนดท่ารำของแต่ละเพลงไว้โดยเฉพาะ  เช่น  เพลงงามแสงเดือน ใช้ท่าสอดสร้อยมาลาเป็นท่ารำ  เพลงชาวไทยใช้ท่าชักแป้งผัดหน้า  เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญใช้ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่ เป็นต้น  เพลงรำวงที่กำหนดท่ารำโดยใช้ท่ารำแม่บทดังกล่าวนี้เรียกว่า รำวงมาตรฐาน   นิยมในงานรื่นเริงแทนการเต้นรำ   และยังจัดเป็นชุดนาฏศิลป์ไทยที่นำไปแสดงเพื่อความบันเทิงได้อีกด้วย
        กำหนดการแต่งกายของผู้เล่นรำวงให้เป็นระเบียบ  เช่น  ผู้ชายแต่งชุดสากล  ผู้หญิงแต่งชุดเสื้อกระโปรง    หรือชุดไทยพระราชนิยม  ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน  สวมเสื้อคอกลม   มีผ้าคาดเอว   ผู้หญิงแต่งชุดไทย  เป็นต้น
        การเล่นรำวง  นอกจากจะเป็นที่นิยมของชาวไทยแล้ว  ชาวต่างชาติก็ยังนิยมเล่นรำวงด้วยเพลง     รำวงที่ต่างชาติรู้จักและมักจะร้องกันได้  คือ  เพลงลอยกระทง  การเล่นรำวงจะเล่นได้ทุกโอกาสที่มีงานรื่นเริงหรือมีการแสดงนาฏศิลป์ไทย ในการนำนาฏศิลป์ไทยไปแสดงที่ต่างประเทศในบางครั้ง  เมื่อจบการแสดงแล้ว    จะมีการเชิญชวนแขกผู้มีเกียรติ  ขึ้นมาร่วมรำวงกับผู้แสดงชายและหญิงของคณะนาฏศิลป์ไทย   นับเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างคณะนาฏศิลป์ไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาชมการแสดง  อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ศิลปะการเล่นรำวงให้แพร่หลายไปในนานาประเทศอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

          การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ตอน เพลงเรือ






ความเป็นมาของการเล่นเพลงเรือ     เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวไทยภาคกลางที่อยู่ตามริมลำน้ำ เช่น สุพรรณบุรี  อ่างทอง อยุธยา ฯลฯ นิยมเล่นกันในหน้านาประมาณเดือน 11-12  อุปกรณ์ในการเล่นเพลงเรือคือ เรือของพ่อเพลงลำหนึ่งและเรือของแม่เพลงลำหนึ่ง เครื่องดนตรีมี  กรับธรรมหรือกรับพวงและฉิ่ง  ถ้าเล่นกลางคืนจะต้องมีตะเกียงไว้กลางลำเรือ เนื้อร้องทั้งสองฝ่ายมาพบกัน  พ่อเพลงก็จะพายเรือเข้าไปเทียบเกาะเรือแม่เพลงไว้แม่เพลงเริ่มด้วยเพลงปลอบ หรือเพลงเกริ่น บางคณะจะเริ่มด้วยบทไหว้ครูก่อน จากนั้นแม่เพลงก็จะร้องประโต้ตอบเรียกว่า บทประ แล้วต่อด้วยชุดลักหาพาหนี หรือนัดหมายสู่ขอ แล้วต่อด้วยเพลงชุดชิงชู้และเพลงตีหมากผัว เมื่อเลิกก็จะมีเพลงจาก แสดงความอาลัยอาวรณ์ 

วิธีเล่นเพลงเรือ     วิธีเล่นหรือการขับเพลงจะมีต้นเสียงขึ้น  และมีลูกคู่รับ  โดยใช้ฉิ่งและกรับพวงเป็นเครื่องประกอบจังหวะเวลาร้อง ต้องร้องให้ลงกับจังหวะพาย ผู้ขับเพลงเรือหรือแม่เพลงต้องเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบที่จะหาคำหรือหยิบยกเอาเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาสอดแทรกเข้า ไปให้เหมาะสมอาจเป็นแข่งขัน ยกย่อง เสียดสี ซึ่งทำให้ผู้ฟังสนุกไปด้วยก่อนการเล่นเพลง ต้องมีการกล่าวกลอนไหว้ครูเสียก่อนจากนั้นจึงจะเอื้อนกลอนพรรณนาหรือชักชวนให้คนอื่นมาเล่นด้วยโดยใช้วิธีว่ากลอนกระทบกระทั่งกระเซ้าเย้าแหย่ จนคู่โต้มิอาจจะทนอยู่ได้จึงเกิดการเล่นเพลงเรือ โต้ตอบกันขึ้น การโต้ตอบกันด้วยเพลงเรือ บางทีก็เผ็ดร้อนใช้คารมที่คมคาย บางทีก็อาจเป็นทำนองรักหวานชื่น ทั้งนี้แล้วแต่โอกาสและสถานการณ์ 

การแสดงแบ่งเป็น  ฝ่ายชาย  ฝ่ายหญิง  มีพ่อเพลงแม่เพลง
     จะเริ่มด้วยบทไหว้ครู  เกี้ยวพาราสี  ลักหาพาหนีและตีหมากผัว

ลักษณะบทร้องแบ่งเป็น 4 ตอน  คือ     1. ปลอบ (ฝ่ายชายชวน)
     2. ประ  (ฝ่ายหญิงตอบ)
     3. ดำเนินเรื่อง
     4. จาก 

การแต่งกาย     ฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม ผ้าขาวม้าคาดเอว  ส่วนฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก

โอกาสที่แสดง     แสดงในงานฤดูน้ำหลาก  หรือในงานนักขัตฤกษ์  งานมงคล  เช่น บวชนาค  ทอดกฐินและลอยกระทง

สถานที่แสดง     แสดงและเล่นกันในเรือ  แต่ในปัจจุบันร้องและเล่นกันบนเวที จัดเป็น 2 ฝ่าย  ชาย – หญิง ว่าแก้กันเป็นคู่ 

ตัวอย่างเพลงเรือ
ได้ยินน้ำคำเสียงมาร่ำสนอง                       เสียงใครมาเรียกหาน้อง (ฮ้าไฮ้)ที่ไหนล่ะ
แต่พอเรียกหาฉันแม่หนูไม่นานไม่เนิ่น        เสียงผู้ชายร้องเชิญ....ฉันจะว่า
การจะเล่นจะหัวหนูน้องไม่ดีดไม่ดิ้น            หรอกว่ายามกฐิน....ผ้าป่า
พอเรียกก็ขานแต่พอวานก็เอ่ย                    น้องหนูไม่นิ่งกันทำเฉย...ให้มันช้า
แต่พอเรียกหาน้องฉันก็ร้องขึ้นรำ                ฉันนบนอบตอบคำจริง....พับผ่า
แม่หนูนบนอบตอบคำ                                ตอบกันไปเสียด้วยน้ำ...วาจา
แต่พอเรียกหาน้องแล้วฉันก็ร้องว่าจ๋า           กันเสียเมื่อเวลาเอ๋ยจวนเอย (รับ)
เมื่อเวลาจวนเอยแต่พอเรียกหาน้อง             แม่หนูก็ร้องว่าจ๋าหาน้องหาน้องแม่หนูก็ร้อง
ว่าจ๋ากันเมื่อเวลา  เอ๋ยเมื่อเวลา   เวลาจวนเอย   ฮ้า...ไฮ้
  
เอ๋ยเรียกหาน้องร้องเอ่ย                             น้องหนูไม่นิ่งกันทำเฉย...ให้มันช้า
จะเล่นจะหัวกะตัวฉัน                                  เสียงใครมาเรียกแล้วแม่บ้าน...ไกลตา
ครั้นจะไม่ทักไม่ทาย                                  ฉันกลัวว่าพี่แกจะอาย...กันแน่หน้า
ฉันกลัวจะอาจพ่อไหวเอ๋ยเขาบ่น                 ทั้งฝูงผู้ฝูงคน...ก็มากหน้า
ฉันไม่ให้อายพ่อไหวเอ๋ยเขาแย่                   ฉันมิให้พี่ลงไปอาบ...กันแก่หน้า
ฉันจะธุรับหน้าเธอเอาไว้เสมอหน้าท่า
ฉันไม่ชักหน้าก้มให้หกล้มผวา                     เพราะเราเป็นคนเห็นหน้ากันเลย (รับ)
เอ๋ยคนเห็นหน้ากันเอย
ฉันไม่ชักหน้าก้มให้หกล้มผวา                     หน้าก้ม  หน้าก้ม  ให้หกล้มผวา  เพราะเป็นคน
เห็นหน้า  เอ๋ยคนเห็นหน้า                           เห็นหน้ากันเลย     (ฮ้า...ไฮ้) 



ขอบคุณที่มา : http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/374


วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

                                             ระบำชาวนา


“ระบำชาวนา” ซึ่งผู้แต่งทำนองเพลงนี้คือ 
นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและศิลปินแห่งชาติ ส่วนท่ารำนั้นท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี
ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้คิดและออกแบบท่ารำ เมื่อได้ชมการแสดงระบำชาวนา
แล้วจะมีสุนทรียภาพทางนาฏศิลป์ที่เกิดขึ้นดังนี้
               ตัวละคร เครื่องแต่งกาย
ตัวละครนั้นจะเป็นชาวบ้านทั้งหญิงและชาย  จะเป็นแต่งชุดม่อฮ่อม ซึ่งเป็นชุดที่เรียบง่าย 
ไม่หรูหรา เป็นชุดพื้นบ้าน ที่เห็นแล้วจะจะทำให้รู้ได้เลยว่าการแสดงชุดนี้ต้องเกี่ยวกับการทำนา
               ขับร้อง บทร้อง บทเจรจา บทพากย์ 
การแสดงระบำชาวนา เป็นการแสดงที่ไม่มีการขับร้อง ไม่มีเนื้อเพลง มีเพียงดนตรี ประกอบจังหวะซึ่ง
เป็นดนตรีที่มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน
             ฉาก อุปกรณ์
อุปกรณ์ที่ใช้จะเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำนาตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงการเกี่ยวข้าว ฉะนั้นอุปกรณ์ที่ใช้จึง
ได้แก่ เมล็ดข้าว เคียวเกี่ยวข้าว รวงข้าง กระด้ง เป็นต้น
              ดนตรีที่ใช้ประกอบ
ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น กลองยาว กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง ดนตรีจะมีจังหวะที่สนุกสนาน 
เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และให้หายเหนื่อยจากการทำนา
             ท่าทางสื่อความหมาย
ท่ารำจะเป็นท่าที่สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา  เป็นขั้นตอนการทำนาตั้งแต่เริ่มหว่านข้าว 
ไถนา เกี่ยวข้าว ฝัดข้าว เป็นต้น

 ขอบคุณที่มา: http://www.artsedcenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539512322&Ntype=11

ระบำวิชนี



เป็นระบำชุดหนึ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยใช้ทำนองเพลงจีนดาวดวงเดียว ซึ่งเป็นเพลงที่มีอยู่ มาประดิษฐ์เป็นท่ารำ โดยผู้แสดงจะแต่งกายแบบนางใน ในมือถือพัดมีด้ามประกอบการรำซึ่งมีศัพท์เรียกว่า วิชนี หรือ พัชนี ออกมาร่ายรําด้วยท่วงทํานองเพลงและบทร้องอันไพเราะ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ชาวไทยนิยมใช้พัดเป็นเครื่องบรรเทาความร้อน ดังนั้นนาฏศิลปชุด ระบําวิชนี จึงวิวัฒนาการมาจากการใช้พัด รําเพยลมของชาวไทยในทํานองอย่างมีศิลปนั่นเองผู้ประพันธ์เนื้อร้องคือ อาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย ของกรมศิลปากร
โดยมีเนื้อร้องดังต่อไปนี้

หน้าร้อน
ทินกรเจิดแจ่มแฉล่มศรี
เกิดแสงแดดแผดมาสู่ร่างนี้
เผามาลีโรยเหงาเหี่ยวเฉาไป
อากาศร้อนอบอ้าวผะผ่าวผิว
ไล่ลมพริ้วมาไวคลายร้อนได้
พระพายหยุดสุดร้อนร้อนฤทัย
ต้องอาศัยโบกพัดกระพือลมวิชนี
ที่ช่วยให้โรยรื่นเย็นฉ่ำชื่นชุ่ม
ในฤทัยสมถึงเวลาหน้าร้อนร้อนระงม
เชิญมาชมรำพัดให้เย็นใจเอย....
เพลงบรรเลงรัว เพลงเชิดจีน



วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559



                                                                     รําสีนวล
เป็นชื่อของเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบการแสดงละคร ประกอบกิริยาไปมาของสตรีที่มารยาทกระชดกระช้อย ทำนองเพลงมีท่วงทีซ่อนความพริ้งเพราไว้ในตัว ต่อมามีผู้ประดิษฐ์ทำนองร้องขึ้นประกอบการรำซึ่งทำให้ความหมายของเพลงเด่นชัด ปรากฏเป็นภาพงดงามเมื่อมีผู้ร่ายรำประกอบแต่เดิมการรำเพลงสีนวลมีอยู่แต่ในเรื่องละคร ภายหลังจึงแยกออกมาใช้เป็นระบำเบ็ดเตล็ด เพราะมีความงดงามไพเราะทั้งในชั้นเชิงของทำนองเพลง และท่ารำความหมายของการรำสีนวล เป็นไปในการบันเทิงรื่นรมย์ของหญิงสาวแรกรุ่นที่มีจริตกิริยางดงามตามลักษณะกุลสตรีไทย ด้วยความที่ทำนองเพลง บทขับร้อง และท่ารำที่เรียบง่ายงดงาม จึงเป็นชุดนาฏศิลป์ชุดหนึ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปจำนวนผู้แสดง ใช้แสดงเป็นหมู่ หรือแสดงเดี่ยวก็ได้ ตามโอกาสที่เหมาะสมดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์
บทร้องที่ใช้แสดงมีอยู่ ๓ รูปแบบ
แบบที่ ๑... ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล
สีนวลชวนชื่นเมื่อยามเช้า รักเจ้าสาวสีนวลหวนคิดถึง
แม้ไม่แลเห็นเจ้าเฝ้าคำนึง อยากให้ถึงวันที่รำสีนวล...
ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา
แบบที่ ๒ ประพันธ์บทร้องโดย นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ...
ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล

อันการรำสีนวลกระบวนนี้ เป็นแบบที่ร้องรับไม่จับเรื่อง
เป็นการรำเริงรื่นของพื้นเมือง เพื่อเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนอารมณ์ได้ปลดทุกข์สุขใจเมื่อไร้กิจ
เข้ารำชิดเคียงคู่ดูเหมาะสมขอเชิญชวนมวลบรรดาท่านมาชม
รื่นอารมณ์ยามที่รำสีนวล...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา
แบบที่ ๓... ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวลร้องสีนวล

สีนวลชวนชื่นเมื่อยามเช้า รักเจ้าสาวสีนวลหวนคิดถึง
แม้ไม่แลเห็นเจ้าเฝ้าคำนึง อยากให้ถึงวันที่รำสีนวล
ร้องอาหนู

เจ้าสาวสาวสาวสาวสะเทิ้นเจ้าค่อยเดินค่อยเดินเดินตามทาง
ฝูงอนงค์ทรงสำอางนางสาวศรีห่มสี (ซ้ำ)ใ
ส่กำไลแลวิลัย ทองใบอย่างดี ทองก็ดีประดับสีเพชรพลอยพลอยงามดูงามใส่ต่างหูสองหู
หูทัดดอกไม้สตรีใดชนใดในสยามจะหางามงามกว่ามาเคียง ไม่เคียง (ซ้ำ)
ชวนกันเดิน พากันเดิน รีบเดินมา รีบเดินมาร่ายรำทำท่าน่ารักเอย...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา
หมายเหตุ บทร้องอาหนู เป็นบทพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ท่อนสุดท้ายปรับปรุงขึ้นใหม่แตกต่างจากบทพระนิพนธ์) ผู้แสดงนุ่งผ้าโจง ห่มสไบจีบ สยายผมทัดดอกไม้ ใส่เครื่องประดับ (เข็มขัด กำไลมือ กำไลเท้า)ความยาวของชุดการแสดงจะแตกต่างกันคือรำสีนวล ออกเพลงเร็ว-ลา ใช้เวลาแสดงประมาณ ๕ นาทีรำสีนวล ออกเพลงอาหนู เพลงเร็ว-ลา ใช้เวลาแสดงประมาณ ๘ นาที